Search

ประท้วงฮ่องกง : ดินแดนสองหน้ากากกับความท้าทายในการเผชิญหน้าวิกฤตใหม่ - บีบีซีไทย

jogja-grade.blogspot.com
Alice Cheung in two masksImage copyright BBC / Curtis Lo

หนึ่งปีที่ผ่านมา กับการชุมนุมด้านนอกสภาของยุวชนชุดดำในฮ่องกง ก่อให้เกิดสมรภูมิระหว่างก้อนอิฐปะทะกับกระสุนยางและแก๊สน้ำตา การชุมนุมประท้วงหลายครั้งและต่อมาเกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่ เขตปกครองพิเศษแห่งนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา คำถามสำคัญคือฮ่องกงจะอยู่รอดได้หรือไม่

ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ชาวฮ่องกงเกือบทุกคนสวมหน้ากากด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง

สำหรับผู้ประท้วงที่ต้องต่อสู้กับตำรวจ พวกเขาใส่หน้ากากเพื่อป้องกันแก๊สไม่พึงประสงค์ สำหรับผู้ประท้วงอย่างสันติ พวกเขาใช้ผ้าคลุมหน้าสีดำเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และสำหรับคนอื่น ๆ มันเป็นหน้ากากที่ช่วยป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก

รอยแผลเป็นที่เกิดจากความทรงจำของโรคซาร์สที่ระบาดหนักในปี 2003 ทำให้ชาวฮ่องกงเกือบทุกคนสวมหน้ากากและทุกคนในเมืองก็ผ่านเหตุการณ์มาโดยไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงนัก แม้ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าการเจ็บป่วยและภาวะวิกฤต

จากนั้นไม่นาน ประเทศจีนก็ได้ประกาศออกมาว่ามีแผนจะบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จะทำให้ "การโค่นล้ม การแยกดินแดน การก่อการร้ายและการแทรกแซงจากต่างประเทศ" เป็นความผิดอาญา กฎหมายฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างและมีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติในเดือนมิ.ย.นี้

นักวิเคราะห์หลายคน มองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การประท้วงและการคัดค้านเป็นอาชญากรรม และอาจหมายรวมถึงจุดจบของอิสรภาพที่ทางจีนเคยได้ให้การรับรองไว้กับฮ่องกงเมื่อเขตปกครองพิเศษนี้ถูกส่งกลับคืนให้จีนในปี 1997

"ฮ่องกงเข้าสู่ระยะใหม่ แต่หลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาฮ่องกงอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในอนาคต" อลิซ เฉิง อดีตผู้นำนักเรียนกล่าว

ปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความไม่เชื่อมั่นและความอ่อนล้าทางจิตใจของเฉิง เธอนึกภาพไม่ออกว่าบ้านเกิดของเธอจะเป็นอย่างไร

รัฐบาลปักกิ่งมองว่านี่เป็นการปราบปรามที่จำเป็นสำหรับเมืองที่ดื้อรั้นอย่างฮ่องกง ที่ผ่านมาฮ่องกงมีความตั้งใจที่จะคลอดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของตนเองอยู่เสมอ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะร่างกฎหมายฉบับนั้นไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ตอนนี้หลังจากความพยายามในการต่อต้านรัฐบาลกลางหลายต่อหลายครั้ง ปักกิ่งพยายามขึ้นเป็นสองเท่า และก่อให้เกิดการตอบสนองการขัดขืนของฮ่องกงผ่านความพยายามที่จะออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนใหม่

Image copyright EPA

กลัวคนรุ่นใหม่

สำหรับเฉิงและคนอีกหลายคนที่มีอุดมคติเดียวกันกับเธอ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ถูกเสนอไปนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจโดยตรงต่ออัตลักษณ์ทางการเมืองของพลเมืองฮ่องกง และความสำเร็จของเมืองในการเป็นศูนย์กลางของนานาประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวฮ่องกงในแง่ที่ว่า ที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ของพวกเขาอีกต่อไป

แต่ประชากรชาวฮ่องกงที่เห็นด้วยกับรัฐบาลกลางบางคนกล่าวว่าพวกเขายินดีต้อนรับกฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่ามันจะนำมาซึ่งหายนะสำหรับฮ่องกงในเชิงเศรษฐกิจก็ตาม เพื่ออธิบายความรู้สึกนี้ เฉิง ใช้คำว่า "ลาม โชว" (laam chau) ซึ่งเป็นสแลงภาษากวางตุ้งแปลว่า "การทำลายซึ่งกันและกัน" ทฤษฎีนี้จะดำเนินต่อไปหากปักกิ่งบุกฮ่องกง ประเทศแถบตะวันตกจะต้องลงโทษจีนที่เพิกถอนข้อตกลงพิเศษกับฮ่องกง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของจีน

สหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณมาเมื่อเดือนที่แล้วโดยขู่ว่าจะยกเลิกสิทธิพิเศษสำหรับฮ่องกงและกำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่จีนที่บ่อนทำลายเอกราชของเมือง

Image copyright AFP

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผู้ประท้วงที่นิยมระบอบการล่าอาณานิคมต้องการให้สหราชอาณาจักรเข้ามาแทรกแซงกิจการของฮ่องกงเคยถูกหัวเราะเยาะใส่ แต่ตอนนี้สหราชอาณาจักรให้คำมั่นว่าถ้าหากรัฐบาลปักกิ่งดำเนินการตามกฎหมายที่เสนอ ก็จะให้สิทธิพิเศษเพิ่มแก่ชาวฮ่องกงกว่า 3 ล้านคนที่มีสิทธิได้รับหนังสือเดินทางสัญชาติบริติชโพ้นทะเล หรือ BNO ซึ่งออกให้แก่ผู้ที่เกิดในช่วงที่อังกฤษปกครอง

ผลที่ตามมาจากคำมั่นสัญญาของสหราชอาณาจักรนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ปักกิ่งเตือนว่าจะตอบโต้การแทรกแซงใด ๆ ในกิจการภายใน ซึ่งอาจส่งผลให้ฮ่องกงตกอยู่ท่ามกลางข้อพิพาทระดับโลกที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก

ถึงเฉิงจะเป็นผู้ประท้วงอย่างสงบ แต่เธอไม่ต้องการตีตัวออกห่างจากผู้ประท้วงรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอเกิดความไม่ไว้วางใจต่อตำรวจที่แฝงตัวเข้ามาเป็นผู้ชุมนุมประท้วง

Image copyright Laurel Chor

เธอเห็นคนรักสงบอย่างเธอถูกจับและมันเปลี่ยนมุมมองของเธอว่าเธอเป็นใครและการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมีความหมายอย่างไร "ฉันรู้สึกด้านชา" เธอกล่าว "ฉันแทบไม่ค่อยจะรู้สึกอะไรมากนักเมื่อฉันดูข่าว....ฉันไม่แน่ใจว่าฉันเก็บกดความรู้สึกของตัวเองมากไปหรือเปล่า"

มีผู้ถูกจับกุมเกือบ 9,000 คน 40% เป็นนักเรียน ผู้ถูกจับที่เด็กที่สุดอายุเพียง 11 ปีเท่านั้น มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,800 คนและประมาณ 1 ใน 3 ของพวกเขาต้องถูกฟ้องร้องในข้อหาก่อการจลาจลซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

เฉิงกังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประท้วงหากจีนผ่านกฎหมายฉบับนี้

ช่วงเวลาสามัคคีของคนในเมือง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เฉิงตื่นกลัว เธอเติบโตขึ้นที่อะมอย การ์เด้นส์ (Amoy Gardens) อาคารชุดที่เป็นศูนย์กลางของการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 ซึ่งส่งผลให้ผู้อาศัยในอาคารชุดของเธอมีผู้ติดเชื้อกว่า 300 คน ตอนนั้น เฉิงมีอายุเพียงแค่ 6 ขวบ

"ฉันจำได้ว่าผู้ที่อาศัยอยู่ที่อาคาร "อี" ต้องขึ้นรถโดยสารไปกักตัวที่ค่ายของรัฐบาล" เธอเล่า "ฉันจำได้ว่าได้รับข่าวสารมาจากทีวีว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน"

เฉิงเริ่มสวมหน้ากากเมื่อต้นเดือนมกราคม ไม่นานหลังจากที่เธอได้ยินข่าวเรื่อง "เชื้อปอดอักเสบลึกลับ" ครั้งแรกในอู่ฮั่น

"มันทำให้ฉันนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงซาร์ส" เธอกล่าว "ฉันมั่นใจว่ามีการปกปิดแน่นอนและฉันคิดว่าสิ่งต่าง ๆ จะเลวร้ายยิ่งกว่าสิ่งที่ถูกรายงาน"

Image copyright Getty Images

เช่นเดียวกับเฉิง ชาวฮ่องกงจำนวนมากเริ่มดำเนินการหลังจากเจ้าหน้าที่แผ่นดินใหญ่ยืนยันการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงจากผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 75% กล่าวว่าพวกเขาใช้หน้ากากเมื่อออกไปข้างนอก และประมาณ 61% กล่าวว่าพวกเขาหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดในปลายเดือนมกราคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 99% และ 85% ตามลำดับในช่วงกลางเดือนมีนาคม

ในชั่วขณะหนึ่ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่อมให้คนทั้งเมืองเลิกประท้วงกันไปได้ ฮ่องกงมีความภาคภูมิใจในจิตวิญญาณของการที่ทำได้ทุกอย่าง สำหรับคนจำนวนมากการรอดชีวิตจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อทุกคนร่วมใจกัน

ดร.คิง วา ฟู อาจารย์ผู้สอนอยู่ในภาควิชาวารสารศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่ารัฐบาลของเมืองตอบโต้ช้าในช่วงแรก และผู้คนในชุมชนสมควรได้รับความชื่นชมไม่ใช่รัฐบาล

"ชาวฮ่องกงมีประสบการณ์กับโรคซาร์สและนั่นเป็นสาเหตุที่ผู้คนรู้ว่าต้องตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็วโดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาระยะห่างจากผู้คนในสังคม พวกเราไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลออกมารณรงค์เรื่องเหล่านี้" เขาอธิบาย

แต่ไม่ว่าจะได้รับเครดิตหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่ารัฐบาลได้แสดงความสามารถในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในฮ่องกงได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากยอดผู้เสียชีวิตเพียง 4 คนและไม่มีการล็อกดาวน์

Image copyright Reuters

วัฒนธรรมการประท้วงที่น่าหวงแหน

การประกาศร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนลบภาพความสำเร็จของการตอบสนองต่อไวรัสของรัฐบาลไปในชั่วพริบตา

นางแครี แลม ผู้นำของฮ่องกงประกาศว่า กฎหมายที่เสนอไปจะต้องถูกบังคับใช้ "เพราะอำนาจอธิปไตยของชาติถูกทำลายโดยการสนับสนุนของการแยกตัวเป็นอิสระ และความรุนแรงที่เกิดจากกิจกรรมการก่อการร้าย"

กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเชื่อว่าปักกิ่งได้ซื้อเวลามานานหลายปีแล้ว

"จีนมักคิดว่าเป็นการยากที่จะยอมรับอิสรภาพต่ออำนาจที่ฮ่องกงมีอยู่ภายใต้ระบบที่แยกจากกัน" มาร์กาเร็ต อึง อดีตสมาชิกรัฐสภากล่าว

"ตอนนี้พวกเขาได้เลือกวิธีนี้ในการใช้กฎหมายนี้โดยอ้างอิงถึงการประท้วงเมื่อปีที่แล้ว จริงอยู่ที่การประท้วงเปิดโอกาสให้พวกเขาบังคับใช้กฎหมาย แต่มันก็เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการทำมาตลอดเช่นกัน"

มีความกลัวมากมายเกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายฉบับนี้ต่อฮ่องกง นอกเหนือจากการบีบบังคับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ก็คือความกลัวว่าจีนจะจัดตั้งองค์กรรักษาความปลอดภัยของตัวเองในเมืองฮ่องกง

มากาเร็ต อึง อายุ 72 ปี กล่าวว่าเธอกลัวว่าแม้การพูดธรรมดาก็อาจกลายเป็นอาชญากรรมได้ ในกลางเดือนเมษายนเธอถูกจับเป็นครั้งแรกในชีวิตพร้อมกับนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียง 14 คน

ทำให้ผู้คนหวาดกลัวกันว่า วัฒนธรรมการประท้วงที่คนฮ่องกงหวงแหนกำลังจะหายไป ค่านิยมทางสังคมนี้ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาหลังการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนในปี 1989 เมื่อชาวฮ่องกง 1 ล้านคนเดินขบวนเพื่อสนับสนุนการประท้วงของนักเรียนในปักกิ่ง

"ผู้คนยอมรอ 4 ชั่วโมงที่ชาร์เตอร์ การ์เด้น ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มเดินขบวน ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีตและเป็นการเดินขบวนประท้วงที่ใหญ่ที่สุด" แลม วิง คอง กล่าว เขาทำงานมา 31 ปีในฐานะอาสาสมัครของกลุ่ม พันธมิตรฮ่องกงที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อชาติและประชาธิปไตยในจีน

Image copyright Reuters

ในอดีต ทางการฮ่องกงอนุญาตให้มีพิธีจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์ทุกปี ซึ่งถือเป็นมาตรวัดเรื่อสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้รับอนุญาต แต่มาปีนี้ รัฐบาลฮ่องกงไม่อนุญาตให้จัด โดยอ้างเหตุความกังวลเรื่องสุขภาพของประชาชน

ถึงกระนั้น ผู้คนนับหมื่นก็ฝ่าฝืนข้อห้ามและออกมาเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในระหว่างการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

นางเทเรซา เฉิง รัฐมนตรียุติธรรมแห่งฮ่องกงกล่าวกับบีบีซีว่าเธอเชื่อว่าการประท้วงในฮ่องจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมและทางการต้องหาทางจัดการ

"นอกจากความรุนแรงที่เราเห็นบนท้องถนน คุณจะได้เห็นรายงานการยึดระเบิด ระเบิดน้ำมันเบนซิน และปืน ระหว่างการตรวจค้นของตำรวจ" เธอกล่าว

เธอสนับสนุนกฎหมายที่ถูกเสนอไปโดยบอกว่าเอกราชของฮ่องกงจะ "ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการตัดสินใจครั้งนี้และกฎหมายอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนไป

หลายคนสงสัยว่าเป็นการดีหรือไม่ที่จีนเลือกที่จะเดินในเส้นทางนี้ ลบล้างสถานะที่ไม่เหมือนใครของฮ่องกงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ที่เพลินเพลินกับการปกครองด้วยกฎหมาย ตุลาการที่เป็นอิสระ และมีเสรีภาพในบางเรื่อง

แต่ตอนนี้สถานะของจีนแตกต่างจากเมื่อตอนที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้ การขึ้นสู่ตำแหน่งของสี จิ้นผิง ผู้นำที่มีความแน่วแน่ที่สุดของจีนในหลายทศวรรษทำให้เราได้เห็นจีนที่กางแขนโอบล้อม "ขอบเขตอำนาจที่ครอบคลุม" ไปทั่วเกาะฮ่องกง

ความเสี่ยงเช่นนี้มีนัยยะสำคัญ

ไบรอัน ฟอง นักรัฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบในฮ่องกงอธิบายถึงพัฒนาการล่าสุดว่าเป็น "การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญยิ่งด้านนโยบายของจีนที่มีต่อฮ่องกง" รัฐบาลปักกิ่งอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในฮ่องกง

แต่ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในปี 1997 เศรษฐกิจของฮ่องกงเทียบเท่ากับ 18% ของเศรษฐกิจจีน มาในปี 2018 เหลือไม่ถึง 3%

และหลังจากการประกาศจากจีน การเปิดบัญชีเงินในต่างประเทศ การหันไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการย้ายถิ่นฐานได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในหมู่ชาวฮ่องกง

Image copyright EPA

ชาลส์ ชาน (นามสมมุติ) ทนายวัย 40 ปี ที่หาเงินได้ปีละ 1 - 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ปรับสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของเขา "ผมจะถือดอลลาร์ฮ่องกงให้น้อยลงและผมก็เตรียมการที่จะย้ายเงินของผมไปยังบัญชีในต่างประเทศด้วย" เขากล่าว ชาลส์กำลังพิจารณาเปิดบัญชีในสิงคโปร์หรือเจอร์ซีย์

หายนะทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏให้เห็นทันที ดัชนีฮั่งเส็งดีดกลับขึ้นมาทันควันหลังร่วงไป ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่ผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ยังไม่มีเงินทุนไหลออก

แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าพายุทางการเมืองในอนาคตอาจหมายถึงว่าฮ่องกงจะค่อย ๆ สูญเสียจุดแข็งในฐานะที่เป็นฐานของสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคสำหรับบริษัทข้ามชาติ และเศรษฐกิจของเมืองได้ถูกกระทบโดยการประท้วงและไวรัสแล้ว

"รากฐานของความสำเร็จของฮ่องกงจำนวนมากกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง" จูเลียน อีแวนส์ พริทชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของจีนแห่ง บริษัทวิเคราะห์เศรษฐกิจ แคปปิตอล อีโคโนมิกส์กล่าว

"มันไม่ใช่เพียงแค่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง แม้จะมีความกังวลก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงมีแนวโน้มนี้ ... แม้ว่ากฎหมายจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบกฎหมายของฮ่องกง แม้เพียงแค่การรับรู้เกี่ยวกับมันก็สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจทั้งในฮ่องกงและต่างประเทศได้แล้ว"

ระหว่างทศวรรษ 1980 และ 1990 ฮ่องกงประสบภาวะการอพยพของประชาชนไปตั้งรกรากในต่างแดนด้วยความกลัวต่อการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ ชานก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น แต่เขากลับมาเพื่อสร้างอาชีพและเริ่มต้นครอบครัวของเขาที่ฮ่องกงในเวลาต่อมา

"ผมวางแผนไว้แล้วว่าจะย้ายออก หลังเด็ก ๆ จบชั้นประถมศึกษา" เขาอธิบาย "ถ้าสถานการณ์ในฮ่องกงเลวร้ายจริง ๆ ทุกคนในครอบครัวก็จะออกไป"

เขาไม่ได้เข้าร่วมการประท้วงเมื่อปีที่แล้ว แต่รู้สึกเห็นใจกับสาเหตุของการชุมนุม เขากล่าว "ภายใต้ระบบของจีนมันมีเพียงเสียงเดียว มันขัดแย้งกับระบบดั้งเดิมของฮ่องกงเพราะผู้คนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันและพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้ ... ผมไม่ต้องการให้ลูก ๆ เติบโตขึ้นภายใต้ค่านิยมแบบเผด็จการ"

ถึงตอนนี้ก็ยังไม่พบว่า มีการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่อีก แต่ก็มีสัญญาณว่ามีผู้ให้ความสนใจในในการไปตั้งรกรากที่ใหม่เพิ่มขึ้น

"ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง BNO ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวฮ่องกงที่ต่ออายุหนังสือเดินทางชนิดนั้น" อีแวนส์ พริทชาร์ด แห่งแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าว




June 12, 2020 at 07:44PM
https://ift.tt/37mDf1q

ประท้วงฮ่องกง : ดินแดนสองหน้ากากกับความท้าทายในการเผชิญหน้าวิกฤตใหม่ - บีบีซีไทย

https://ift.tt/2REt1Df


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ประท้วงฮ่องกง : ดินแดนสองหน้ากากกับความท้าทายในการเผชิญหน้าวิกฤตใหม่ - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.