คนไทยเคยชินอยู่กับการมีชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มหรือที่เราเรียกว่าโลกเสมือนเกือบทั้งวัน ที่คนไทยใช้มาก
ก็น่าจะเป็น Facebook-Twitter-Google-YouTube-Line เช่นตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกกำลังกายไปกับ YouTube สั่งงานหรือคุยกับเพื่อนทาง LINE หาข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการทำงานจาก Google กลายเป็นพื้นที่สำคัญของการใช้ชีวิตของคนทุกชาติ ทุกภาษา
คนในยุคนี้จึงมีชีวิตอยู่บนโลก 2 ใบ ใบหนึ่งเรียกว่าโลกกายภาพหรือโลกออฟไลน์ อีกโลกหนึ่งก็คือโลกบนแพลตฟอร์มที่เรียกว่าโลกออนไลน์ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ หัวหน้าโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศึกษา ฟันธงว่าแพลตฟอร์มจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนเมืองในแทบทุกด้าน ทุกช่วงเวลาของวัน และทุกช่วงเวลาของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย และยังเชื่อว่าชีวิตเมืองปัจจุบันอยู่ได้ด้วยสาธารณูปโภคฉันใด ชีวิตเมืองในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มฉันนั้น
ขณะที่โลกทางกายภาพเป็นพื้นที่ทำมาหากินและสะสมความมั่งคั่งของมนุษย์มาแต่เดิม โลกเสมือนก็เช่นกัน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือมหาเศรษฐีหมื่นล้านแสนล้าน ทั้งในสหรัฐและจีนต่างเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มกันทั้งนั้น เช่น มาร์ค ซัคคัลเบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook และ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา
แพลตฟอร์มเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมโยงผู้มีส่วนร่วมซึ่งอาจจะเป็นผู้ซื้อ ผู้ขาย แสวงหาข้อมูลให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ และยังสามารถสร้างธุรกรรมเกิดมูลค่าแลกเปลี่ยนกันได้ ขนาดของตลาดหรือขนาดมูลค่าของแพลตฟอร์มขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาใช้ และขนาดของตลาดก็ใหญ่ขึ้นตามลำดับ
ข้อได้เปรียบของแพลตฟอร์มคือสามารถรองรับผู้เข้ามาใช้จำนวนมาก รวมทั้งรองรับเครือข่ายขนาดใหญ่ทำให้ผู้ใช้งานได้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและสินค้าได้อย่างรวดเร็ว มนุษย์ที่ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มก็กลายเป็นสินค้าของเจ้าของแพลตฟอร์มที่จะไปขายให้แก่ผู้สนใจลงโฆษณา
นักท่องเที่ยวเป็นมนุษย์จำพวกหนึ่ง ซึ่งพึ่งพาการใช้แพลตฟอร์มมากตั้งแต่ซื้อตั๋วเรือบิน จองโรงแรม เรียกรถแท็กซี่ หาร้านอาหาร จ่ายเงินเพื่อรับบริการและซื้อของที่ระลึก เป็นต้น เมื่อนักท่องเที่ยวจีนออกมาท่องเที่ยว เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่ในแพลตฟอร์มของจีนเกือบตลอดเวลา ทั้งที่ชีวิตทางกายภาพอยู่ในประเทศอื่น หมายความว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกำไรก็หมุนเวียนอยู่ในกำมือของธุรกิจที่อยู่บนแพลตฟอร์มนั้นๆ ในประเทศจีนส่วนใหญ่
แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 ก็คือเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะสำคัญยิ่งขึ้น สังคมไร้เงินสดจะเดินหน้าเต็มตัว แต่ที่คนไทยใช้อยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติ ยกเว้นแพลตฟอร์มของธนาคาร สำหรับภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวเคยมีบริษัทเอกชนพยายามทำแพลตฟอร์มเพื่อที่ให้ข้อมูลระดับจังหวัดและให้มีการทำธุรกรรมกันบนแพลตฟอร์มนั้นได้แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถที่จะเรียกแขกหรือเชื้อเชิญให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนั้นได้
นอกจากความสำคัญของแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ อีกประเด็นหนึ่งก็คือช่องโหว่ของการกำกับเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างกฎหมายว่าด้วยโรงแรมและข้อตกลงของนิติบุคคลอาคารชุดตามไม่ทัน การปล่อยห้องพักรายวันให้นักท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม หรือการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อรับผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น
โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของไทยก็คือทำอย่างไรนักท่องเที่ยวจะที่เข้ามาเมืองไทยจะมาใช้แพลตฟอร์มของไทย (ซึ่งจะต้องปรับให้เป็นในภาษาสากล) และเพื่อธุรกิจของไทยจะสามารถเข้าถึงและให้บริการได้ ในอนาคตมีการคาดการณ์กันว่านักท่องเที่ยวจะกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาอย่างอิสระไม่ใช่มากับทัวร์ ซึ่งก็จะทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ สำคัญมากขึ้น ดังนั้น เมื่อโควิด-19 สงบลงแล้วก็มีความจำเป็นที่เมืองหลัก เมืองรองด้านการท่องเที่ยวทุกเมืองจะต้องสามารถปรับตัวไปเป็นเมืองแพลตฟอร์มให้ได้
โอกาสที่ไทยจะมีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของเราเองก็มาถึง เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ระบาด รัฐบาลบังคับให้คนไทยทุกคนใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ เพื่อรัฐจะได้สามารถติดตามการเดินทางเพื่อป้องกัน และป้องปรามการระบาด ไทยชนะจึงอาจเป็นจุดเริ่มต้น และอาจจะสามารถนำไปปรับปรุงสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวนานาชาติในประเทศไทย โดยยกระดับให้มีการติดต่อในภาษาสากลเพิ่มเติมหรือการเชื่อมโยงกับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นด้านการท่องเที่ยว เช่น ตารางเดินรถ เครื่องบิน ตารางรถไฟ ข้อมูลด้านสุขภาพและความปลอดภัย หรือประกาศของรัฐเมื่อมีภัยพิบัติ
เมื่อโควิด-19 สงบลงแล้ว รัฐบาลอาจจะพิจารณาปรับให้ไทยชนะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อไปยังกิจกรรมธุรกิจหรือให้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถส่งเสริมเมืองหลัก โดยเฉพาะเมืองรองที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยดูแลในที่สุด
การจัดการแพลตฟอร์มแบบไทยชนะ ซึ่งไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นง่ายกว่าการจัดการแพลตฟอร์มทางธุรกิจมาก เพราะในประการหลังนั้นต้องสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระบบและความสามารถในการรักษาระบบไม่ให้ถูกโจรกรรมข้อมูลได้ แต่หากเราต้องการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับสากลจริงๆ ก็ถึงเวลาที่จะต้องลงทุนแล้วค่ะ!
July 02, 2020 at 04:11AM
https://ift.tt/2VDsPGe
เมืองท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอลคือเมืองแพลตฟอร์ม | กรองกระแสท่องเที่ยว - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2REt1Df
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เมืองท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอลคือเมืองแพลตฟอร์ม | กรองกระแสท่องเที่ยว - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment