Search

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ “เปิดเมืองแบบกั๊ก ๆ” - โพสต์ทูเดย์

jogja-grade.blogspot.com

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th

ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เรื่องที่ลับสมองของการเป็นนักเศรษฐศาสตร์มาก ๆ ก็คือ การที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะสามารถรักษาสมดุลระหว่าง “สุขภาพ” กับ “เศรษฐกิจ” ได้อย่างเหมาะสม และควรเลือกสนับสนุนการทำนโยบายแบบไหนที่จะทำให้ “เกิดความสูญเสียให้น้อยที่สุด (Minimize Loss) เพราะเรื่องของไวรัสโควิด-19 เราคงไม่สามารถใช้แนวทางการวิเคราะห์แบบประโยชน์สูงสุดได้ (Maximize Benefit) ซึ่งเป็นแนวทางวิเคราะห์ที่นักเศรษฐศาสตร์นิยมใช้ตามปกติได้

เริ่มจากเมื่อครั้งที่โควิด-19 เพิ่งเริ่มระบาดใหม่ ๆ (เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) ประเทศไทยเราอยู่ภายใต้เซ็ตของข้อมูลความรู้ว่า ไวรัสนี้เป็นไวรัสที่ติดต่อง่ายมาก ๆ เรามีการติดเชื้อระหว่างประชาชนภายในประเทศแล้ว (ในขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ประกาศเฟส 3 เสียที) แต่ยังคงเปิดให้คนต่างชาติเข้าออกประเทศได้ตามปกติ โดยจากชุดความรู้นี้ มีผู้ได้ทำการประมาณการออกมาว่า “ถ้าประเทศไทยตัดสินใจที่จะไม่ล๊อกดาวน์/ ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม (หรือเลือกที่จะทำนโยบายแบบ Herd Immunity เหมือนในบางประเทศ)” เราจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 351,948 คน และต้องเสียชีวิตถึง 7,039 คน แต่ถ้าประเทศไทยเลือกใช้นโยบายล๊อกดาวน์ เราก็น่าจะยังคงมีผู้ติดเชื้อถึง 24,269 คน และจะมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 485 คน

ดังนั้นด้วยตัวเลขดังกล่าว ภาครัฐจึงเลือกตัดสินใจที่จะประกาศล็อกดาวน์ประเทศเพื่อให้ประชาชนได้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพราะหลักแนวคิดของากรให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด (Minimize Loss) นี้แสดงให้เห็นว่า การสูญเสียชีวิตด้วยจำนวนถึง 7,039 คนดังกล่าวจะเป็นการสร้างต้นทุน (Economic Cost) ที่สูงเป็นอย่างมาก (และน่าจะมากกว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การเลือกล็อกดาวน์ประเทศในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง

แต่อย่างไรก็ดี ผลของการล๊อกดาวน์ประเทศก็ออกมาอย่างที่เราเห็นก็คือ เกือบทุกธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างสูง อันส่งผลไปสู่การจ้างงาน/ตกงาน/หางานทำไม่ได้ ยังไปถึงปากท้องของคนในครอบครัว รายได้หดหาย (จำนวนคนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจที่เราไม่ทราบจำนวนแน่ชัดเพิ่มสูงขึ้น) และภาพของการต่อคิวรับอาหารจึงเกิดขึ้นในหลายจุดทั่วประเทศ ซึ่งในภาพรวม เศรษฐกิจไทยต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจที่หนักกว่าในสมัยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 มากนัก เพราะส่งผลกระทบต่อคนยากจนในประเทศเป็นหลัก

จนกระทั่งในวันที่เขียนบทความนี้ (17 มิถุนายน) จะเป็นเพราะ (รัฐบาล) เก่ง หรือ เฮง (ปัจจัยทางอากาศร้อน, พันธุกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่) ก็ตาม เรามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 3,135 คน และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 58 คนเท่านั้น โดยประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น 23 วัน ซึ่งแสดงว่า เราสามารถควบคุมไวรัสนี้ได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก จนเขายกย่องว่าเราเป็นประเทศอันดับ 2 ของโลกในการควบคุมไวรัสชนิดนี้ ดังนั้นจึงนำมาสู่ความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องคลายมาตรการล๊อกดาวน์เพื่อให้เศรษฐกิจได้เดินต่อได้

แต่ในทางปฏิบัติจริง เราจะเห็นได้ว่า การคลายล๊อกดาวน์ ทั้งเฟส 1-4 ที่ผ่านมา ยังมีลักษณะของการ “คลายแบบกั๊ก ๆ” อยู่ เช่นร้านอาหารที่จำกัดคนเข้ารับบริการ, การไปกันเป็นครอบครัวแต่ต้องแยกกันนั่งโต๊ะ, หลายร้านต้องปิดให้บริการก่อนเวลา, ร้านนวดที่ต้องจำกัดจำนวนลูกค้า, ดูหนังต้องนั่งเว้นเก่าอี้, ขึ้นเครื่องบินก็มีที่นั่งฟันหลอ เป็นต้น หรือกล่าวคือ การคลายทางกิจกรรมต่าง ๆ นั้นแต่ยังมีการควบคุมมาตรการทางด้านสาธารณสุขอยู่

ถ้าจะอธิบายว่าการเปิดแบบกั๊ก ๆ นี้สร้างความสูญเสียให้กับทางเศรษฐกิจได้อย่างไร คงต้องอธิบายด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น โดยจากรูปข้างล่างกำหนดให้เส้น D สะท้อนถึงอุปสงค์ของผู้บริโภค (เช่นคนไปรับประทานอาหารในห้าง) ในขณะที่เส้น S สะท้อนถึงอุปทานของผู้ประกอบการการ โดยในช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด การบริโภคจะอยู่ที่จุดดุลยภาพโดยมีปริมาณบริโภคอยู่ที่ Q0 และมีราคาขายอยู่ที่ P0 ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคตาม ดุลยภาพของตลาดที่เกิดขึ้นในภาวะปกติ

แต่ทว่า เมื่อเกิดการควบคุมด้านปริมาณเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่งผลทำให้ร้านค้าต้องนำมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพเข้ามากำกับ รวมไปถึงมาตรการด้าน Social Distancing ต่าง ๆ จึงส่งผลทำให้สามารถเปิดรับลูกค้าได้ในจำนวนที่จำกัด (โดยจากรูปคือเส้นสีแดงที่ถูกกำหนดเท่ากับ Quota) ที่จะต่ำกว่า Q0

การจำกัดจำนวนคนเข้านี้ จะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และทำให้เกิดส่วนเกินผู้ผลิต (Producer Surplus) (ในรูปแบบของกำไร) ที่ลดลง (ในปริมาณเท่ากับพื้นที่ b+d) อันส่งผลต่อการจ้างงานที่ไม่เต็มตามศักยภาพ (Under-Employment) ตามมา ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็สูญเสีย “ความพึงพอใจ” จากจากบริโภคอันส่งผลทำให้ค่าส่วนเกินผู้บริโภคของนักท่องเที่ยว (Consumer Surplus) ลดลงเท่ากับพื้นที่ a+c

ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า การใช้มาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพและการจำกัดจำนวนลูกค้าในร้านนี้จะทำให้ตลาดเกิดการบิดเบือนและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Deadweight Loss) ในพื้นที่เท่ากับ c+d โดย

• พื้นที่ c เป็นความสูญเสียที่เกิดกับทีผู้บริโภคไม่ที่สามารถเข้ารับการบริโภคได้ อันส่งผลทำให้ความพึงพอใจของการบริโภคลดลงลดลง

• พื้นที่ d เป็นความสูญเสียที่เกิดกับผู้ประกอบการร้านค้าที่ไม่สามารถรับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ อันส่งผลทำให้กำไรลดลง ซึ่งผมมักชอบยกตัวอย่างอธิบายในห้องสอนสำหรับการสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Deadweight Loss) นี้ก็เหมือนกับเราเอาเงินมาเผาเล่นนั่นแหละ ไม่มีใครได้ มีแต่เสียกับเสีย ในขณะที่การสูญเสียในพื้นที่ a+b ยังเกิดขึ้นได้ในหลายกรณีขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

โดยสรุป ในทางทฤษฎีแล้ว การเปิดประเทศแบบกั๊กๆ ที่ต้องมีการจำกัดโควตาและเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ล้วนส่งผลลบต่อทั้งผู้ประกอบการและต่อผู้บริโภค รวมทั้งยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Deadweight Loss) อย่างมหาศาล ซึ่งถ้าใช้หลักการทำให้เกิดการสูญเสียให้น้อยที่สุด (Minimize Loss) ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นก็แปลว่า รัฐบาลควร “ผ่อนปรน” ให้เกิดการเปิดเมืองที่มากขึ้นแบบ “ไม่กั๊ก” เหมือนที่เป็นอยู่เพื่อเป็นการ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้

ด้วยตัวเลขที่สูญเสียอย่างมหาศาลนี้จึงมาสู่การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ว่า “เราควรที่จะตัดสินใจในการเปิดเมืองแบบไม่กั๊กอย่างไร” ณ จุดนี้ ขอเสนอคอนเซ็ปท์สำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development Economist) นิยมใช้ในการวิเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ นั้นก็คือแนวคิดแบบ “Counter-factual” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์เปรียบเทียบผลของปัจจัยหรือการตัดสินใจหนึ่ง ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะการตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว โดยหน้าที่ของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักประเมินโครงการจะต้องหาเหตุการณ์นั้นให้เจอ หรืออย่างน้อยวิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่า ถ้าทำนโยบาย X แล้วได้ A มันจะดีกว่าหรือแย่กว่าไม่ทำนโยบาย X แล้วได้ B เช่น

ยกตัวอย่างในกรณีของการคลายมาตราการล๊อกดาวน์ ถ้าเราเปิดเมือง แต่ยังคงเป็นแบบกั๊ก ๆ สิ่งที่เราทราบคือ A เช่น

1. เคสของผู้ติดเชื้อโควิดจะลดต่ำลง A.1 คน

2. โอกาสที่ระบาดรอบสองจะกลับมาลดลง A.2 เปอร์เซ็นต์

3. เศรษฐกิจจะพัง (ไม่ฟื้นตัว) อีก A.3 เปอร์เซ็นต์

4. คนจะตกงานเพราะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น A.4 คน เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทำก็คือ เราต้องเอามาเปรียบเทียบกับการที่เปิดเมืองแบบไม่กั๊ก แล้วจะเป็น B ในที่นี้ B จะเป็น counter-factual แต่เราจะไม่สามารถรู้ว่า B คืออะไร เพราะเมืองมันไม่ได้ถูกเปิดอย่างเต็มที่จริง (หรือเปิดแบบกั๊กๆ อยู่) แต่ถ้าเปิดให้มากกว่านี้ (เช่น ลดการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ยังคงใส่หน้ากาก)

1. คนจะตายเพิ่มขึ้น B.1 คน

2. โอกาสที่ระบาดรอบสองจะกลับมาจะเพิ่มขึ้น B.2 เปอร์เซ็นต์

3. เศรษฐกิจจะดีขึ้น B.3 เปอร์เซ็นต์

4. จะลดจำนวนคนตกงานเพราะพิษเศรษฐกิจได้ B.4 คน เป็นต้น

ซึ่งในความเป็นจริง การเปิดแบบกั๊ก ๆ ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า B คืออะไร และตอนนี้ รัฐบาลหรือผู้ตัดสินใจในเรื่องการเปิดเมืองยังไม่ให้ข้อมูลกับประชาชนในส่วน B นี้เลย ยกเว้นการเน้น A.1 และ A.2 ให้เราเป็นแชมป์ทางด้านจำนวนคนติดโรคที่น้อยที่สุด (จะมีก็เพียงวาทกรรมว่าเวฟสองมาแน่)

ต้องยอมรับว่า การปิดเมืองมาเป็นเวลานาน (และการเปิดแบบกั๊ก ๆ) อย่างที่เป็นอยู่นี้ คือการที่รัฐเน้นที่ A.1 และยังเดา ๆ A.2 อยู่ ในขณะที่รัฐยังไม่ได้คำนึกถึงมูลค่าของ A.3-A.4 มากเท่าที่ควร และยังไม่มีข้อมูล B.1-B.4 มาชี้แจงกับประชาชน ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ แล้ว ต่อให้เวฟสองมาจริง ๆ (B.1+B.2) และเชื่อว่าสาธารณสุขไทยจะสามารถควบคุมอยู่ มูลค่าของมันก็อาจจะต่ำกว่า B.3+B.4 อยู่มากก็ได้ หรือกล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ “เปิดให้เต็มที่กว่านี้ เพราะตอนนี้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากธุรกิจเจ๊งและคนตกงาน มันอาจมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าต้นทุนจากผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากเวฟสองแล้ว”

ซึ่งก็แปลว่า ถ้าจะเป็นการช่วยเหลือในเรื่องเศรษฐกิจโดยรวม ภาครัฐจำเป็นต้องประกาศ “เปิดเมืองแบบไม่กั๊ก ๆ” หรือเปิดให้มากกว่านี้ ซึ่งในที่นี้ หมายถึงยกเว้นการเว้นระยะห่างทางสังคม, ไม่ต้องนั่งแยกโต๊ะ, เปิดสถานที่ให้คนได้ใช้บริการตามศักยภาพที่รับได้, เปิดโอกาสให้คนได้ไปเที่ยว, และเปิดมหาวิทยาลัยและโรงเรียนให้เด็กได้เรียนตามปกติ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้กลไกตลาดได้ทำงาน และจะเป็นการช่วยเร่งให้เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

หมายเหตุ การเปิดแบบไม่กั๊กไม่กรณีนี้หมายถึง การที่ผู้ประกอบการยังคงมีเรื่องการใส่หน้ากาก และให้บริการเจลล้างมือ แต่ยังคงไม่เปิดสถานที่สุ่มเสี่ยง เช่น ผับหรืออาบอบนวด และยังคงปิดประเทศไม่ให้คนต่างชาติ (ที่ไม่ได้ผ่านการอนุมิติจากข้อตกลงของภาครัฐ) เข้ามาในประเทศ




June 23, 2020 at 07:21AM
https://ift.tt/318u57Y

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ “เปิดเมืองแบบกั๊ก ๆ” - โพสต์ทูเดย์

https://ift.tt/2REt1Df


Bagikan Berita Ini

0 Response to "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ “เปิดเมืองแบบกั๊ก ๆ” - โพสต์ทูเดย์"

Post a Comment

Powered by Blogger.