Search

คอลัมน์การเมือง - พปชร. ความล้มเหลวของปฏิรูปเมืองไทย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

jogja-grade.blogspot.com

ถาม : พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เพิ่งจะตั้งขึ้นทำไมดูวุ่นวาย จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหัวหน้าพรรค เลขาฯพรรค ความวุ่นวายเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนอะไร ?

ตอบ : สะท้อนว่าพรรค พปชร. เป็นพรรค เฉพาะกิจเฉพาะการ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนให้ใครบางคนเป็นนายกฯ และสามารถจัดตั้งรัฐบาล จึงได้กวาดต้อนกลุ่มก๊วนต่างๆในแวดวงการเมืองให้มารวมตัวกันด้วยผลประโยชน์ซึ่งไม่ใช่เกิดจากคนที่มีอุดมการณ์เหมือนกันมารวมตัวกัน

เริ่มต้นจาก การให้กลุ่มก๊วนของสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งมี 4 กุมาร เป็นไม้เป็นมือ ไปตั้งพรรคเพื่อให้ดูภาพลักษณ์ห่างจากทหาร ขณะเดียวกันขุนทหารใหญ่ทั้งสามคนก็มีท่าทีปฏิเสธว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวหรือล่วงรู้กับการจัดตั้งพรรค

แล้วดึงกลุ่มก๊วนการเมืองที่พร้อมจะย้ายพรรค ย้ายขั้วการเมือง จากกลุ่มที่เคยอยู่พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย
เร่ไปอยู่ความหวังใหม่และไทยรักไทย จนสุดท้ายก่อนย้ายไปพปชร. ก็อยู่ที่พรรคเพื่อไทย

มีกลุ่มก๊วนที่ย้ายขั้วมาจากระบอบทักษิณ เพราะเมื่อสังเกตจาก รธน.’60 ที่เขียนวางหมากกลไว้ให้คณะทหารที่ยึดอำนาจ (คสช.) ได้สามารถครองอำนาจต่อหลังการเลือกตั้ง ก็พากันย้ายเข้ามาร่วมกับพรรคพปชร. เพราะต้องการสังกัดอยู่กับรัฐบาลไม่อยากอยู่กับฝ่ายค้าน

ในปีแรกของการร่วมรัฐบาล เรื่องตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ก็พอจะยอมๆกันไปได้ แต่เมื่อเข้าปีที่ 2
ผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่ม ที่ได้แล้วไม่แบ่งไม่จ่ายให้ลูกพรรค

ต่างกับหัวหน้ามุ้ง หัวหน้าก๊วนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแล สส.ในสังกัดถึงเดือนละ 3 แสนบาทต่อคน ปฏิกิริยาของกลุ่มก๊วนและมุ้งต่างๆ จึงเกิดผลักดันให้พี่ใหญ่กระเป๋าใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลัง ให้ออกหน้ามารับตำแหน่ง และจะได้เอาตำแหน่งรัฐมนตรีของ 4 กุมาร มาจัดสรรใหม่

ก๊วน 4 กุมาร จึงได้แต่ร้องหาความเป็นธรรมและออกมาตำหนิการเมืองในพรรคที่เลวร้าย พปชร.จึงไม่ต่างอะไรกับพรรคเฉพาะกิจที่กลุ่มทหารจัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหารไม่ว่าจะเป็น สหประชาไทย สามัคคีธรรม ฯลฯ

แต่ที่น่าเจ็บปวดที่สุด คือ พรรคพปชร. ก็เป็นพรรคที่ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ ในเริ่มแรกของการตั้งพรรคไทยรักไทย ก็มีการนำนักวิชาการ และคนที่มีภาพลักษณ์ดีเข้ามาร่วมก่อตั้งพรรค หลังจากนั้นก็ดึงกลุ่มก๊วนต่างๆ จากพรรคชาติไทยและพรรคความหวังใหม่และอื่นๆ เข้ามารวมอยู่ในพรรคไทยรักไทย หากสังเกตกลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ พปชร. ไม่ว่าจะเป็น นายสมคิดนายสมศักดิ์ นายสุริยะ ร.อ.ธรรมนัส นายสันติ นายวิรัตน์ ฯลฯ ต่างก็เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทยมาทั้งสิ้น จึงอาจพูดได้ว่าพรรค พปชร. ก็คือพรรคไทยรักไทยที่เปลี่ยนแต่หัว

ถาม : ถ้าบอกว่ากลุ่มทหาร คสช. อยู่เบื้องหลัง พปชร. แล้วทำไม พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ดูจะมีบทบาทเข้าเกี่ยวข้องกับพปชร.แตกต่างกันมาก?

ตอบ : ทหารเขาก็เรียนรู้ว่า การเมืองไทย ธุรกิจไทย เขานิยมสร้างภาพตบตาประชาชน เขาจะกำหนดบทบาทให้คนหนึ่งเป็น “คนดี” ปล่อยงานสกปรกให้อีกคนหนึ่งเป็น “คนร้าย” และอีกคนหนึ่งดูสุภาพ ลุ่มลึกเป็นเสนาธิการเพื่อควบคุมและหาประโยชน์

คนหนึ่งเล่นบทไม่สังกัดพรรค รังเกียจพรรคการเมือง แต่ถ้าได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯก็ยอมรับ อะไรจะเกิดกับพรรคการเมืองก็บอกไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยว

อีกคนเล่นบท “คนร้าย” ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเงินๆทองๆ ควบคุมกลุ่มก๊วนสส. และสว.ในวุฒิสภา และในที่สุดจำต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคพปชร. เพราะเกรงจะขัดต่อ รธน.’60 ที่ห้ามบุคคลภายนอกมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง

คนที่ 3 เล่นบทสงบ เรียบร้อย ลุ่มลึก คุมท้องถิ่นและภูมิภาค สร้างประโยชน์กับตนพรรคการเมืองและพวกพ้อง

หลัง COVID-19 ผลโพลล์ที่ออกมาคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จึงสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันพรรคพปชร. และ พล.อ.ประวิตรตกต่ำลง

ถาม : หลังโรคระบาด COVID-19 จบลง การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นหรือเลวลง?

ตอบ : ความจริง ก่อน COVID-19 ระบาด รัฐบาลตกที่นั่งลำบากประสบปัญหาความศรัทธาของประชาชนลดต่ำอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ความเหลื่อมล้ำสูงมาก ถูกจับตาว่าโครงการและผลประโยชน์กระจุกอยู่กับเจ้าสัวเศรษฐี

เกิดเหตุการณ์ยิงกราดที่นครราชสีมา โดยทหารระดับชั้นประทวน นำปืนของค่ายทหาร ออกปฏิบัติการก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพความสามารถของกองทัพ ในการดูแลความมั่นคงของกองทัพเอง ไม่สามารถระงับเหตุในค่ายทหาร จนลุกลามถึงวัด และศูนย์การค้า ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายหลายสิบคน

ธุรกิจของทหารในกองทัพถูกเปิดโปง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสวัสดิการบ้านจัดสรร การนำที่ดินหลวงไปหาประโยชน์ โรงแรมสนามกอล์ฟ สนามม้า เวทีมวย สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์และอื่นๆ

การปฏิรูปกองทัพถูกหยิบยกขึ้น ประชาชนสนใจที่จะกดดันให้กองทัพต้องปรับตัว ผู้นำกองทัพถึงกับหลั่งน้ำตาสัญญาจะดำเนินการ

เกิดแรงกดดันในการปรับกองทัพให้จิ๋วแต่แจ๋ว โดยลดกำลังพล ลดหรือโยกงบประมาณไปใช้ที่เป็นประโยชน์ ระบบการเกณฑ์ทหารได้รับการกดดันให้เปลี่ยนแปลง จำนวนนายพลต้องมีน้อยลง บ้านพักหลวงต้องใช้อย่างคุ้มค่าไม่ใช่ให้ทหารเกษียณยังคงครอบครองใช้สอยต่อไป

แต่พอ COVID-19 ระบาด เรื่องก็เงียบหาย

เกิดเหตุการณ์สส.พรรครัฐบาลรุกที่ป่า รมต.บางคน ถูกกลาวหาว่าเคยค้ายาเสพติดแม้จะอ้างว่าเป็นแป้งแต่ก็ดูจะไม่มีใครเชื่อ กระหน่ำซ้ำเติมด้วยการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ สส. หลายคนพรรคภูมิใจไทยและ สส.พปชร. แต่พอ COVID-19 ระบาด เรื่องก็ถูกลืม

เหตุการณ์ท้ายสุด เมื่อนักเรียน นิสิต นักศึกษาออกมาชุมนุมเกือบจะทุกสถาบัน ผลัดเปลี่ยนเวียนวนทุกวัน เรียกร้องความยุติธรรม ความเป็นธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติ ก็อาจเป็นปรากฏการณ์การรวมตัวแบบใหม่ที่กระจายและใช้เทคโนโลยีระบบอินเตอร์เนต

เมื่อ COVID-19 ระบาด ทุกคนรุมสนใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประกอบกับสังคมไทยลืมง่าย แต่เก่งและสนใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เราจึงแก้ไข COVID-19 ด้วยความกลัว ที่ถูกขู่ให้กลัวด้านสุขภาพ เศรษฐกิจจึงตกต่ำ ฝืดเคือง เพราะภาคการผลิตและบริการต้องยุติการผลิตจำนวนมาก ผู้คนว่างงานมหาศาล ขาดรายได้และตกงาน

รายได้ของประเทศ ที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวหยุดชะงัก และจะต้องชะงักกันไปอีกนานเพราะทุกประเทศประสบปัญหาเหมือนกัน รายได้ของประชาชนลดน้อยลงก็สั่งสินค้าจากไทยน้อยลง ท่องเที่ยวก็ยังต้องปิดประเทศ หยุดการเดินทางระหว่างประเทศไปอีกนาน

ขณะปัจจุบัน ที่ผู้คนยากลำบากแสนเข็ญ แต่ส่วนหนึ่งมีเงินออม มีเงินเก็บสะสมก็ยังพออยู่ได้ แต่อีก 1-2 เดือนข้างหน้า คนที่สายป่านเงินออมน้อย เงินสะสมของธุรกิจหมดลงจะต้องปิดตัวกันอีกมาก คนจะว่างงานมากขึ้น เงินแจกจากรัฐก็จะร่อยหรอหมดลง มิหนำซ้ำยังมีการโกงกินในการใช้งบประมาณเงินกู้อีก

สองเดือนจากนี้ไป... เศรษฐกิจจะตกต่ำยากลำบากมากขึ้น สถานการณ์จะหนักหนากว่าวิกฤติต้มยำกุ้งหรือวิกฤติแฮมเบอเกอร์ เพราะวิกฤติ 2 ครั้งก่อนเกิดวิกฤติเฉพาะบางกลุ่มประเทศ แต่ครั้งนี้วิกฤติกระจายทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งจะตกต่ำยาวนานกว่า

เมื่อผู้คนลำบาก การทำมาหากินฝืดเคือง ปัญหาสังคมโจร ผู้ร้าย จะชุกชุมมากขึ้น รัฐบาลจะหารายได้จากภาษีและอื่นๆน้อยลง ผู้คนจะหงุดหงิดกล่าวโทษผู้นำประเทศ จนรัฐบาลและสถาบันสำคัญสั่นคลอน

หากจะเทียบวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่จะเกิดขึ้น กับยุคเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี ค.ศ. 1930 หรือ พ.ศ. 2473 วิกฤติที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้อาจจะรุนแรงและแพร่กระจายไปมากกว่า เพราะครั้งนี้กระทบภาคการผลิตเป็นวงกว้างรุนแรงรวดเร็วกว่า

สังคมการเมือง จึงต้องเตรียมปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง หรือใช้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ และต้องเรียนรู้ว่าหลัง ค.ศ. 1930 หรือ พ.ศ. 2473 ได้ไม่กี่ปี ประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัย




June 07, 2020 at 07:30PM
https://ift.tt/2YcU1ft

คอลัมน์การเมือง - พปชร. ความล้มเหลวของปฏิรูปเมืองไทย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2REt1Df


Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์การเมือง - พปชร. ความล้มเหลวของปฏิรูปเมืองไทย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.