Search

ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : 'เขาสมอคอน' ภูมิตำราวิทยาอาคมขลังแห่งลพบุรี - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

jogja-grade.blogspot.com

วันอาทิตย์ ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 06.00 น.

ชื่อเสียงของเขาสมอคอนนั้น มีปรากฏอยู่ในพื้นที่หลายแห่ง การเดินทางตามรอยสยามเพื่อเรียนรู้ถึงภูมิบ้านภูมิเมืองอาทิตย์นี้ได้สนใจให้ความสำคัญกับเทือกเขาสมอคอน ที่อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ด้วยมีวัดเก่าเล่าขานกันว่าเป็นวัดที่ตั้งขึ้นเมื่อครั้งสมัยอยุธยา ด้วยยังเหลือ เจดีย์ ทรงลังกาย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งทำฐานบัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง ตามแบบเจดีย์ที่นิยมสร้างสมัยอยุธยามาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัดนี้มีโบสถ์และมณฑปสร้างขึ้นเพิ่มเติมในชั้นหลัง รวมทั้งประติมากรรมขนาดใหญ่รูปหนุมานยกเขาสรรพยาให้มองเห็นแต่ไกล หากไม่เล่าตำนานที่คนเก่าเขาผูกเรื่องไว้ในพื้นที่ก็ดูจะขาดรสชาติของเขาสมอคอนไปทีเดียว 

จากนิทานตำนานเมืองละโว้เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระลักษมณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณนั้น พระรามได้ให้หนุมานไปเอาต้นยาที่เขาสรรพยา อำเภอหนึ่งของชัยนาทปัจจุบัน โดยกำชับตามพิเภกว่าให้กลับมาก่อนอรุณรุ่ง หนุมานไปหายาไม่พบด้วยตัวยาสังกรณี-ตรีชวาเกิดเล่นซ่อนหาสนุกกับกับหนุมานจนจะค่ำมืด หนุมานเกรงว่าหากไล่หากันก็จะรุ่งสางเสียก่อน จึงสำแดงฤทธิ์ยกภูเขาทั้งลูกและเหาะผ่านมาทางเมืองลพบุรี ซึ่งไฟกำลังลุกไหม้เมือง แสงสว่างของไฟทำให้หนุมานมองเห็นต้นยาที่ต้องการ จึงทิ้งภูเขาที่ยกมานั้นลงกลางทะเลเพลิงทำให้เขาถูกไฟเผาจนสุกเป็นดินสีขาวทั้งลูกเขา จึงเรียกกันว่า “เขาสมอคอน” เป็นภูเขา สีขาวลูกเดียวอยู่กลางทุ่งไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จากเหตุที่เขามีถ้ำโถงขนาดใหญ่และสามารถเข้าไปถึงหลืบที่แบ่งเป็นห้องด้านในทำให้มีตำนานเล่าต่อกันอีกว่า 

เขาสมอคอนนี้เป็นสำนักตักสิลาสมัยโบราณ เป็นที่อยู่ของสุกกทันตฤๅษี ซึ่งเป็นอาจารย์ของ พ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัย และ พระยางำเมือง เมืองพะเยา เล่าว่าทั้งสององค์มาศึกษาศิลปวิทยา ณ เขาสมอคอน แต่ยังทรงพระเยาว์ บางความเล่าว่าสุกกทันตฤๅษีลาพรตมาอยู่ที่เขานี้เพื่อสืบข่าวทางเมืองละโว้ จึงทำให้มีทางลงไปในถ้ำซึ่งมีพระนอนและมีถ้ำวิหาร ถ้ำแสนสุข ให้มุดให้ลอดสนุกสนานจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและภูมิสมมุติเพื่อสร้างศรัทธาถึงฤๅษีตนนั้น แต่สิ่งที่คนพากันนับถือไม่ขาดนั้นคือ “พระอุปัชฌาย์ก๋ง” หรือ “หลวงปู่ก๋ง” พระเกจิอาจารย์ดัง๔ แผ่นดิน ที่รู้จักกันดี ท่านเกิดวันจันทร์ เดือนอ้าย ปีระกา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่บ้านเขาสมอคอนเรียนหนังสือไทยและขอมจนแตกฉานแล้วจึงบวชที่วัดเขาสมอคอนกับเจ้าอธิการจีนพระอุปัชฌาย์ พระอธิการทับ เป็นพระกรรมวาจาจารย์พระอธิการชื่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ซึ่งอยู่จำพรรษาหลายวัด เช่น วัดมุจลินทร์ วัดบ้านไร่วัดบางลี่ และวัดน้อย บางยี่ขัน หลังสุดกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางลี่ ครองวัดอยู่ ๕ พรรษาจึงย้ายมาวัดเขาสมอคอน จนมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๙ รวมอายุยืนยาวถึง ๑๒๕ ปีต่อมาหลวงพ่อบุญมี  ศิษย์เอกของท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัด ได้ถ่ายทอดวิทยาคมจนมีชื่อเสียงตามกัน และได้เล่าว่า รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ มาหาหลวงปู่ก๋งที่วัดหนึ่งครั้ง โดยเสด็จขึ้นไปถึงยอดเขาสมอคอน อยู่กับท่านตามลำพังเป็นเวลานานจึงเสด็จกลับลงมา

ต่อมาได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในราชกิจจานุเบกษาว่า “วันที่ ๔ พฤศจิกายน เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ประทับเรือพระที่นั่งยอดไชยา เปนเรือมาดแจว พ่วงเรือกลไฟขึ้นไปจอดที่ตะพานศาลาเชิงเขาสมอคอน ทรงพระดำเนินประพาศบนเขาสมอคอนแล้วประพาศในถ้ำพระนอนที่บนเขา แล้วประทับที่ศาลาตรงหน้าบันไดเขาทางที่เสด็จขึ้นพระราชทานเสมาแก่เด็ก และพระราชทานเงินสำหรับปฏิสังขรณ์วัดเขาสมอคอน120 บาท...” ทั้งพระอธิการจีน หลวงปู่ก๋งหลวงพ่อบุญมี แห่งเขาสมอคอน นับเป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมขลังจนสำนักเขาสมอคอนมีชื่อเสียงมาจนวันนี้...




June 28, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/3g7NdH4

ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : 'เขาสมอคอน' ภูมิตำราวิทยาอาคมขลังแห่งลพบุรี - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2REt1Df


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : 'เขาสมอคอน' ภูมิตำราวิทยาอาคมขลังแห่งลพบุรี - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.